ตลอดห้วงเวลาที่ผมอยู่ที่มอสโก ส่วนใหญ่ผมการเดินทาง 3 อย่างคือรถไฟใต้ดิน จักรยาน และเดิน และส่วนใหญ่คือการใช้บริการรถใต้ดิน Metro เรียกว่าหากจะออนทัวร์ด้วยตั๋วเที่ยวเดียวไม่เกิน 20 บาทก็สามารถทัวร์ใต้ดินของมอสโกได้ทุกสถานีได้เลย เพียงแต่ว่าจะมีเวลา และไหวหรือเปล่า เพราะสามารถต่อสถานีไปเรื่อย ๆ ก็ท้าทายดีว่าวันเดียวเที่ยวสถานีเมโทรของมอสโกได้ทุกสถานี
สำหรับตอนนี้ขอเนื้อหาและภาพเยอะหน่อยนะครับ เพราะประวัติน่าสนใจก็เลยค้นคว้าและเก็บเป็นข้อมูลไว้ โดยรถไฟใต้ดินมอสโก (รัสเซีย: Моско́вский метрополите́н, อักษรโรมัน: Moskovsky metropoliten) เป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินขนาดใหญ่ที่ให้บริการในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เปิดให้บริการในปี ค.ศ. 1935 พร้อมกับ 1 เส้นทาง ระยะทาง 11-kilometre (6.8 ไมล์) 13 สถานีเริ่มแรก เป็นประเทศแรกในกลุ่มอดีตประเทศของสหภาพโซเวียตที่มีรถไฟใต้ดิน ปัจจุบันมีจำนวน 188 สถานี ระยะทาง 313.1 กิโลเมตร
รถไฟใต้ดินมอสโก มีระยะทาง 325.4 กิโลเมตร (202.2 ไมล์) และมีจำนวนสถานีรถไฟฟ้ารวม 194 สถานี ในแต่ละวันจะมีผู้โดยสารตั้งแต่ 7 ล้านถึง 9 ล้านคน แต่ละสายจะมีชื่อสาย และสีที่ไม่เหมือนกัน บนรถไฟฟ้า จะมีเสียงประกาศผู้ชายในเที่ยวของขบวนรถขาเข้าเมือง ส่วนขาออกเมือง จะเป็นเสียงประกาศผู้หญิง แต่ในสายคอลเซวายา ซึ่งเป็นสายวงกลม จะมีเสียงประกาศชายในขบวนรถเที่ยวตามเข็มนาฬิกา ส่วนเที่ยวทวนเข็มนาฬิกา เป็นเสียงประกาศหญิง ในแผนที่เส้นทาง แต่ละเส้นทางจะใช้สีเดียวกันกับสีประจำเส้นทาง Advertisement เส้นทางรถไฟฟ้า มีรูปแบบให้บริการจากกระจุกศูนย์กลางไปยังพื้นที่ชานเมือง สายคอลเซวายา (สาย 5) ระยะทาง 20 กิโลเมตร (12 ไมล์) ซึ่งเป็นสายวงกลม เป็นสายที่ช่วยบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารได้ดีที่สุด ป้ายบอกสถานีถัดไปของทุก ๆ สถานี จะบอกสถานีถัดไปของแต่ละทิศทางอย่างชัดเจน โดยแผนที่เส้นทางแบบสมบูรณ์จะแสดงในพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่ให้ข้อมูลบนชานชาลา และบนรถไฟทุกขบวน สถานีและเส้นทางส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน แต่บางสายก็อยู่ระดับดินหรือยกระดับเป็นส่วนน้อย โดย สายฟีลิออฟสกายา เป็นสายที่ระยะทางส่วนใหญ่อยู่ระดับดิน
รถไฟใต้ดินมอสโก เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 5 นาฬิกา 30 นาที จนถึง 1 นาฬิกาของวันถัดไป เวลาเปิดให้บริการของแต่ละสถานีจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับเวลาของรถไฟฟ้าเที่ยวแรกในแต่ละวัน ส่วนเวลาปิดทำการจะเป็นเวลาเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการบำรุงทาง รถไฟฟ้าแต่ละขบวนให้บริการห่างกันอย่างน้อยที่สุด 1 นาที 30 วินาที ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ
สำหรับประวัติความเป็นมาของเมโทรรัสเซีย เริ่มในปี 1931 ซึ่งได้รับการริเริ่มและสนับสนุนจากเลขานุการเอกของเมืองมอสโควในขณะนั้น คือ นายกากาโนวิช ลาซาร มาอิเซเยวิช ขณะนั้นผู้คนในเมืองมอสโคว ต่างเบื่อหน่ายกับปัญหา ในการเดินทางด้วยระบบแทรม การตัดสินใจของผู้ว่าการกรุงมอสโควในขณะนั้น หวังว่าการสร้างระบบการเดินทางแบบใหม่จะช่วยลดปัญหาที่มีอยู่ และทำให้การขนย้ายผู้คนในเมืองไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีราคาถูกลง
ในที่สุด ในเดือน พฤษภาคม 1935 จึงได้เกิดเมโทรสายแรกขึ้น คือ สาย ซาโกลนิกี่ จนถึง ปาร์คกุลตูรึย โดยเมโทรสายนี้ได้เปิดให้บริการด้วยความยาวของเส้นทางที่ 11 กม มีสถานีรวมทั้งสิ้น 13 สถานี นับได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินแห่งแรกในสหภาพโซเวียตขณะนั้น นอกเหนือจาก วิศกร ผู้เชียวชาญที่ได้ว่าจ้างมาจากอังกฤษ แล้ว คนงานที่ทำการก่อสร้างล้วนแต่เป็นชาวรัสเซีย และการประดับประดาตกแต่งต่างๆ รวมถึงศิลปะและประติมากรรมภายในสถานีล้วนแต่ใช้นักจิตรกรมืออาชีพและมีชื่อเสียงของสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น นอกจากนั้น การตบแต่งภายในสถานี เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงศิลปะและวัฒนธรรมของชาวรัสเซียในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดีเยี่ยม ทุกครั้งก่อนการจัดสร้างเมโทร คณะกรรมการพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาจะทำหน้าที่เพื่อดูแลการก่อสร้าง และพิจารณาภาพเสก็ตก่อนเริ่มทำการสร้างจริง และในภาพเสก็ตเหล่านั้น บางภาพได้รับแนวคิดการสร้างมาจากสตาลินโดยตรง ที่ต้องการสร้างและตบแต่งเมโทรให้ไม่เป็นเพียงแค่สถานีรถไฟ แต่ภายในนั้นแฝงไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาต้องการสื่อให้ผู้คนในยุคนั้นได้ซึมซับและอีกทั้งยังสร้างอนุสรณ์รำลึกในเหตุการณ์ต่างๆ ภายในเมโทรด้วย
ในยุคสมัยของสตาลิน เมโทรถูกออกแบบให้เป็นดั่งความต้องการส่วนตัวของเขา ภายในสถานีประติมากรรมบนเพดานถูกตบแต่งไปด้วยแนวคิด แสงแห่งอนาคต (Svetloe Budushee) โดยใช้พระอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ สตาลินต้องการให้ผู้คนที่ใช้บริการสถานีรถไฟใต้ดินได้ชื่นชนความงดงามภายในสถานีประดุจดั่ง พระราชวังของคนธรรมดา การตบแต่งในสไตล์ของสตาลินนั้นซ่อนแนวคิดและปรัชญาในแบบของสตาลินเอาไว้มากมาย พระอาทิตย์ที่ใช้ตบแต่งเพดานของสถานีลึกๆ แล้ว สตาลินต้องการสื่อในความหมายถึง พระเจ้า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือตัวเขานั่นเอง เมโทรในปี 1930 ไม่แตกต่างจากในปัจจุบัน ในช่วงเวลาเร่งรีบ ที่ผู้คนต่างพยายามเบียดเสียดเยียดยัดเข้าไปในตู้รถไฟ สถิติของผู้ใช้เมโทรเพิ่มขึ้นทุกปี จนในที่สุด หลังจากการก่อสร้างเมโทรได้ 8 ปี สถิติของผู้ใช้เมโทรในกรุงมอสโคว ติดอันดับสองของโลก ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ใช้บริการเมโทรถึง 2,500 ล้านคนต่อปี
ในช่วงเหตุการณ์สงคราม เมโทรได้มีบทบาทกับผู้คนในสมัยนั้นมาก เมโทรถูกใช้เป็นหลุมหลบภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายศัตรู ของชาวเมืองมอสโคว ในช่วงเวลานั้นเอง ทุกตารางนิ้วของพื้นเมโทรถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า เป็นที่หลับนอนของคนทั่วไปยามค่ำคืน เป็นทั้งโรงพยายาลสำหรับรักษาคนป่วย และถูกใช้เป็นหอบังคับการของหน่วยงานราชการ ช่วงเหตุการณ์สงคราม ปี 1941 มีเด็กที่คลอดภายในเมโทรถึง 217 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แต่ช่วงเวลาของสงครามการสร้างเมโทรก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน ในบางสถานี เช่น กูรสกายา ปาวิเลสกายา ได้มีการสร้างป้ายอนุสรณ์รำลึกถึงการทำสงคราม หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลงแล้ว แนวคิดการสร้างเมโทรเพื่อทำเป็นหลุมหลบภัยก็ได้ถูกใช้เรื่อยมา ในช่วงสงครามเย็น ได้เกิดแนวคิดการสร้างเมโทรเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยสำหรับบรรดานักการเมือง ด้วยการสร้างสถานีรถไฟใต้ดินที่มีความลึกมากเป็นพิเศษ สายรถไฟสายแรกที่สร้างขึ้นตามโครงการนี้คือ สายรถไฟ อารบัตสโก ปาโกรฟสกายา «Арбатско-Покровская» และในช่วงเวลาเดียวนี้เอง ว่ากันว่าเริ่มมีการสร้างเมโทรลับที่ใช้สำหรับบรรดาข้าราชการและนักการเมืองรวมถึงครอบครัว ที่เรียกกันว่า เมโทรที่ 2 (หรือ อีกชื่อเรียกว่า แผนงาน D6) ว่ากันว่า ภายในเมโทรสายนี้ ได้วางแผนเพื่อใช้เป็นช่องทางลับในการหลบหนี กรณีเกิดสงคราม มีการสร้างอพาร์ทเมนท์ใต้ดิน ที่ประกอบไปด้วย สิ่งอำนวยความสะดวก ต่างๆ มากมายไม่แต่ต่างจากบนดิน แต่ละอพาร์ทเมนท์ มีทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องอาหาร และสุขา ในปี 1991 ได้มีเอกสารรายงานของหน่วยงานราชการทหารของสหรัฐที่กล่าวถึงเมโทรสายนี้ว่า หนึ่งในช่องทางเข้าหลุมหลบภัยเพื่อไปยังเมโทรสายนี้นั้น อยู่ใต้พระราชวังเครมลิน ส่วนอีกที่หนึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งกรุงมอสโคว หลุมหลบภัยสองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหอบังคับการของรัฐบาลในช่วงสงคราม โดยตั้งอยู่ใต้พื้นดินประมาณ 200-300 เมตร มีความจุผู้คนประมาณ 10,000 คน ในการเชื่อมโยงหอบังคับการหรือหลุมหลบภัยเหล่านี้มีรถไฟใต้ดินเป็นตัวเชื่อม และยังเชื่อกันว่ามีช่องทางลับที่ไปถึงสนามบินวนุกกาว่าอีกด้วย
นอกเหนือไปจากความเชื่อในเรื่องของเมโทรลับแล้ว ยังมีความเชื่อของผู้คนทั่วไปที่เกี่ยวกับปฏิมากรรมภายในสถานี อีกด้วย เช่น ที่เมโทร โปลชิด เรวารูซีอี มีปฎิมากรรมรูปปั้นสัมฤทธิ์ ทหารชายแดนกับสุนัข บรรดานักเรียนนักศึกษาต่างมีความเชื่อว่า การถูที่จมูกของสุนัขตัวนั้น จะทำให้ผ่านพ้นการสอบไปได้ด้วยดี จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเฉพาะส่วนของจมูกสุนัขถูกถูจนเปลี่ยนไปเป็นสีทอง ด้วยพลังความเชื่อนี้ แม้จะออกจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว หลายต่อหลายคนก็ยังคงเชื่อมั่นว่าสุนัขตัวนั้นเป็นสุนัขแห่งความโชคดี
ระยะห่างของขบวนรถไฟในช่วงเวลาเร่งด่วนห่างกันเพียง 90 วินาที เท่านั้นเอง ปัจจุบันรถไฟใต้ดินทำการขนส่งผู้โดยสารโดยเฉลี่ยกว่า 7 ล้านคนต่อวัน เมโทรที่มีความลึกมากที่สุดในกรุงมอสโคว คือเมโทรปาร์คปาเบียดึย ซึ่งแปลว่า สวนแห่งชัยชนะ โดยมีความลึกถึง 90 เมตร และนับว่าเป็นสถานีที่มีบันไดเลื่อนยาวที่สุดในเมืองมอสโคว คือ ยาวถึง 126 เมตร ส่วนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมโทรที่มีความลึกมากที่สุดคือ เมโทร อัดมิราลตีสกาย่า ซึ่งมีความลึกถึง 120 เมตรจากพื้นดินถึงจุดต่ำสุดของสถานี นับเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดของรัสเซีย และยังนับเป็นหนึ่งในเมโทรที่มีความลึกมากที่สุดในโลกอีกด้วย เมโทรที่มีความลึกรองลงมาคือ เมโทรโชรนึยเชฟสกายา ลึกถึง 74 เมตร จากพื้นดิน จากนั้นคือ สถานี โปลชิด เลนินน่า ลึก 72 เมตร นอกจากนี้ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจากค่าเฉลี่ยความลึกของสถานีโดยรวมแล้วถือว่า เป็นเมืองที่มีสถานีเมโทรลึกที่สุดในโลก
มีการกำหนดแผนว่าภายในปี 2020 โดยจะสร้างเมโทรให้ยาวออกไปอีก 124 กม เพื่อที่จะขยายการคมนาคมขนส่งผู้คนออกไปยังชานเมือง และภายในปี 2025 จะสร้างเส้นทางเดินรถให้ได้อย่างน้อย 650 กม และจะต้องทำเส้นทางวงแหวนเส้นที่สองให้แล้วเสร็จ สถาปัตยกรรมเมโทรที่มีชีวิต ในเชิงของลักษณะของสถาปัตยกรรมที่นำมาตกแต่งภายในสถานีนั้นเป็นลักษณะของโมนูเมนทัล อาร์ต ( monumental art ) คือลักษณะของงานศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณความดีของวีรบุรุษและการสรรเสริญถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกร ซึ่งจะสื่อออกมาในรูปของงานปั้น รูปหล่อ ภาพสลักนูนต่ำ ภาพวาดประดับลวดลายแบบโมเสกดังเช่นภาพประดับผนังที่สถานีคอมซาโมลสกายา ( Komsomolskaya ) บริเวณผนังสองฝั่งก่อนเข้าสู่ทางเดินเชื่อมเปลี่ยนสายการเดินรถของสถานีคอมซาโมลสกายานั้นมีแผงภาพขนาดใหญ่ตกแต่งในลักษณะลวดลายสีแบบมาจอลิกา คือแผ่นกระเบื้องเคลือบหลากสีนำมาเรียงต่อกันเป็นภาพ ภายในภาพนั้นแสดงเหตุการณ์ในขณะที่คนงานกำลังช่วยกันก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินกันอย่างแข็งขันภายในอุโมงค์ และภาพโมเสกประดับเพดานภายในสถานีมายาคอฟสกายา ( Mayakovskaya ) จำนวน 35 ภาพ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จเริ่มแรกของการนำภาพลวดลายโมเสกมาใช้ในการประดับตกแต่งสถานีรถไฟใต้ดินมอสโคว์ ซึ่งเป็นรูปแบบของศิลปะในยุคคลาสสิค
นอกจากนี้สิ่งที่สร้างความโดดเด่นให้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมอสโคว์มากที่สุดสิ่งหนึ่งคือ รูปปั้น ซึ่งถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสอดคล้องกับแบบแผนศิลปะและวัฒนธรรมโซเวียตทีเรียกว่า โซเชียลลิสต์ – เรียลลิสม ( Socialist – Realism ) กล่าวคือเป็นการยกย่องวีรบุรุษษและตัวบุคคลที่มีความสำคัญต่อเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและง่ายต่อการสื่อความหมายแห่งปฎิวัติสู่ประชาชน ดังเช่นรูปปั้นสำริดที่ปรากฏอยู่ในสถานีโพลชิดท์ เรปวาลูซียา ( Ploshchad Revolyutsi ) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของสถานีนี้ รูปปั้นที่นำมาประดับตกแต่งภายในสถานีนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับบุคคลจริง ซึ่งมีความสมจริงและมีจุดเด่นอยู่ที่การเล่าเรื่องราวที่ประติดประต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางความรู้สึกและความคิดผ่านอิริยาบถของรูปปั้นเหล่านั้น
รูปแบบทางศิลปะที่เป็นจุดเด่นของสถานีรถไฟใต้ดินมอสโคว์ในยุคสตาลินก็คือ เป็นการฟื้นฟูศิลปะในยุคคลาสสิคแบบอารายธรรมกรีก-โรมันโบราณมาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของโซเวียต พื้นฐานสังคมโซเวียตคือสังคมเกษตรกรรมในลักษณะของนารวม ซึ่งเป็นรูปแบบของระบบสังคมนิยมที่ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ดังนั้นลักษณะรายละเอียดในงานศิลปะจึงสื่อให้เห็นภาพของลวดลายของผลิตผลทางการเกษตร เช่น ฝักข้าว เมล็ดพันธุ์พืช มัดฟอนของรวงข้าว และพันธุ์ไม้หนามเป็นต้น
ศิลปะแบบคลาสสลิคถูกเลือกมาเพื่อเป็นรูปแบบทางศิลปะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตอบสนองความต้องการในสุนทรียภาพของชนชั้นแรงงาน เดิมทีนั้นการตกแต่งด้วยศิลปะแบบคลาสสลิคนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวยสำหรับประดับตกแต่งพระราชวังของกษัตริย์หรือคฤหาสน์ของเศรษฐีและขุนนางผู้ที่ตั้งตนว่าเป็นชนชั้นสูงในสังคม แต่ในสังคมโซเวียตนั้นไม่มีคำว่าชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลาง
สถานีในสายการเดินรถคัลเซียวายา ถือได้ว่าเป็ฯสายการเดินรถที่มีกลุ่มสถานีที่สวยงามมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วยสถานีจำนวน 12 สถานี และทั้ง 12 สถานีนี้ถูกสร้างขึ้นในยุคหลังจากการได้รับชัยชนะของสหภาพโซเวียตจากสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นกลุ่มสถานีจึงเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องราวของชัยชนะที่เกิดจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนโซเวียด จุดเด่นของสถาปัตยกรรมการตกแต่งภายนาถานีนี้คือการนำศิลปะโบราณมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด ประกอบกับการเล่าเรื่องราวอย่างประติดประต่อกันถ่ายทอดผ่านงานศิลปะ ซึ่งล้วนแต่เป็นเนื้อหาสาระที่สะท้อนถึงความเป็นสังคมนิยม
สถานีเคียฟสกายา เป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีความโดดเด่นมากที่สุด จุดเด่นของสถานีเคียฟสกายา คือภาพโมเสกประดับผนังเสารับน้ำหนัก จำนวน 18 ภาพล้อกรอบด้วยรูปสลักขนาดเล็กเป็นลวดลายเมล็ดพันธุ์พืช ดอกไม้ตูม และใบไม้ ฉาบเป็นสีทองเป็นภาพลำดับเหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่ช่วงอาณาจักรรัสเซีย จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ในยุคสหภาพโซเวียต เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรวมชาติของรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามอันยิ่งใหญ่แห่งการปกป้องมาตุภูมิ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1941 และสิ้นสุดในปี 1945 ที่สหภาพโซเวียตทถูกรุกรานโดยกองทัพนาร์ซีของเยอรมัน และโซเวียตได้รวบรวมกำลังพลจากประชาชน จากทุกกลุ่มประเทศภายในสหภาพโซเวียตเพื่อต่อสู้กับกองทัพนาร์ซี จึงกล่าวได้ว่าเป็นการนำศิลปะในยุคลาสสลิคมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายของชัยชนะที่ได้รับจากสงครามและแสดงความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากการรวมเป็นรัฐหนึ่งเดียวคือสหภาพโซเวียต
นอกจากนี้ลักษณะของโคมไฟที่ถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งสถานีในละสถานีนั้นยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลักๆ ของการตกแต่งภายในสถานี อย่างเช่น สถานีอัคเทรียบสกายา (Oktyabr’skaya ) ที่บรรยากาศภายในของสถานีนั้นมีความสงบเงียบ ดังนั้นจึงให้ความสว่างภายในสถานีด้วยโคมไฟแบบคบเพลิงแทนการใช้โคมไฟระย้า ซึ่งให้แสงสว่างน้อยกว่า ทั้งเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรบุรุษผู้เสียสละจากเหตุการณ์ปฏิวัติ 1917
การสร้างแสงสว่างภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมอสโคว์นั้น ยังมีนัยทีสื่อถึงความหมายทางการเมือง คือ เพื่อเป็นการตัดความสัมพันธ์ในเชิงเวลาออกไปเมื่อกำลังเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะภายในสถานีรถไฟนั้นให้แสงสว่างประหนึ่งว่าเป็นเวลากลางวัน เป็นการสื่อถึงความหมายว่า ประชาชนโซเวียตทุกคนอยู่ภายใต้แสงสว่างที่ไม่มีวันดับสลาย และเป็นแสงสว่างแห่งเดียวกัน นั้นคือแสงสว่างแห่งความก้าวหน้าและชัยชนะของระบบสังคมนิยมนั้นเอง ความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมภายในสถานีเปรียบได้กับประชาชนหลากหลายชาติพันธ์แต่มารวมอยู่ในที่แห่งเดียวกันคือ สหภาพโซเวียต ซึ่งก็เปรียบได้กับเป็นแสงสว่างที่ไม่มีวันดับสลาย อ้างอิง :www.facebook.com/sayhirussia และ http://www.thairussian.org |
ติดปีกเที่ยว
วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 03.03 น.