ผมถูกแท่งปลุกให้ตื่น หลังจากที่นั่งหลับตลอดทาง จนรถสองแถวมาจอดที่ตัวเมืองแปร เราเดินกลับเกสท์เฮ้าส์ ระหว่างทางผ่านตัวเมืองที่แม้เวลานี้จะสายมากแล้ว แต่ก็ยังคงเห็นพระออกเดินบิณฑบาต ทีแรกก็หลงเข้าใจผิด คิดไปว่าพระพม่าไม่มีความพอเพียง หลังจากฉันเช้าแล้ว ยังออกมาบิณฑบาตเพื่อรับอาหารเพลอีก แต่ความจริงแล้วเป็นเพราะวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนไทยกับคนพม่านั้นต่างกัน คนไทยให้ความสำคัญต่อการใส่บาตร อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร จึงตื่นแต่เช้าเพื่อปรุงอาหาร และตักข้าวที่ปากหม้อเพื่อใส่บาตร ก่อนที่ตัวเองจะกินข้าวเช้า แต่สำหรับพม่าที่แผ่นดินค่อนข้างแห้งแล้ง อีกทั้งประชาชนยังมีความยากจน หากพระบิณฑบาตเฉพาะเวลาเช้า จึงเท่ากับเป็นการแย่งข้าวปลาอาหารของประชาชน ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยจะพอกินกันอยู่แล้ว ฉะนั้นพระพม่าจึงออกรับบิณฑบาตถึงเวลาก่อนเพล เพื่อเป็นการรับข้าวปลาอาหารที่เหลือจากการกินข้าวเช้าของพุทธศาสนิกชน ต่างถิ่น ต่างเหตุผล จึงต่างกันด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี
เวอเวนคาออกมาส่งเราที่หน้าเกสท์เฮ้าส์พร้อมอวยพรให้เราโชคดีในการเดินทาง เราแบกเป้เดินสู่กลางเมือง เพื่อหารถไปยังอาณาจักรศรีเกษตรโบราณ ที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกประมาณ 8 กม. โดยมี 2 ทางเลือกในการเดินทาง คือนั่งไซก้า กับ เหมารถสองแถว
ตัวเลือกแรก แม้จะแสนคลาสสิค แต่คงเป็นไปไม่ได้กับเวลาที่เรามีอยู่แค่ 4 ชั่วโมงก่อนที่รถบัสไปพุกามที่จองตั๋วไว้จะออก การเหมารถสองแถว ที่คนขับบอกราคาสูงถึง 15,000 จ๊าต จึงเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต่อราคาจนลงมาเหลือ 8000 จ๊าต โดยคนขับมีเงื่อนไขว่า เขาจะไปส่งเราแค่พิพิธภัณฑ์ หลังจากนั้นเราต้องเที่ยวชมภายในอาณาจักรศรีเกษตรด้วยการเดิน ซึ่งการเดินในครั้งนี้นำมาซึ่งความทรงจำที่ยากเกินจะลืม
ทั้งๆที่เป็นรถที่เราเหมาทั้งคัน แต่หลังจากที่เราขึ้นไปนั่ง คนขับก็จอดรับผู้โดยสารรายทาง จนเต็มรถ ทำให้แท่งคิดจะแปลงร่างเป็นกระเป๋ารถ เก็บเงินค่าโดยสารจากผู้โดยสารเหล่านั้น แต่เมื่อพ้นเขตตัวเมือง ผู้โดยสารก็ทยอยลงจากรถจนเหลือผู้โดยสารชาวพม่าคนสุดท้ายที่ลงพร้อมกับเราที่พยาจี ซึ่งนั่นเป็นปลายทางของเขา แต่หากเป็นจุดเริ่มต้นในการท่องอาณาจักรศรีเกษตรของเรา
พยาจี (Payagyi) เป็นสถูปขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายกองข้าว (ลักษณะเดียวกับชเวซันดอว์ ในยุคแรกเริ่ม) มีความเก่าแก่กว่าพันปี สร้างในพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 สมัยอาณาจักรศรีเกษตร แต่สร้างอยู่นอกกำแพงเมือง โดยเป็น 1 ใน 9 สถูปที่สร้างโดยพระเจ้าดัตตาบอง ซึ่งดูเหมือนในสมัยพระองค์ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรศรีเกษตรเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็น ชเวซันดอว์ หรือบรรดาสถูปขนาดใหญ่ในอาณาจักร ก็ถูกบูรณะหรือสร้างในสมัยพระองค์ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พยาจีเป็นสถูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศพม่า อีกทั้งยังเป็นรากฐานในการสร้างเจดีย์ศิลปะพม่าในยุคต่อมาด้วยความสูงถึง 42 เมตร ผมจึงต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองยอดสถูป จนอดทึ่งในความอุตสาหะของคนยุคโบราณไม่ได้ และเพราะการสร้างด้วยแรงงานมนุษย์โดยปราศจากเครื่องจักร พยาจีจึงถูกก่อสร้างขึ้นอย่างช้าๆ และการสร้างอย่างช้าๆนี้เองได้กลายมาเป็นชื่อที่ชาวพยู แห่งอาณาจักรศรีเกษตรใช้เรียกสถูปแห่งนี้ว่า Hsei Hsei ซึ่งแปลว่า สร้างอย่างช้าๆ
และในเวลานี้ผมก็กำลังเดินอย่างช้าๆ บนระเบียงรอบพยาจี ที่ยาวถึง 154 เมตร เพื่อสัมผัสความยิ่งใหญ่ของพยาจีอย่างใกล้ชิด แต่ความยาวนี้เทียบไม่ได้เลยกับระยะทางที่ผมใช้ในการเดินทางในครั้งนี้
ผมแหงนมองพยาจีอีกครั้ง ก่อนกลับขึ้นรถสองแถว ซึ่งในเวลานี้เราเพิ่งเริ่มรู้สึกว่าเป็นรถที่เราเหมาทั้งคันจริงๆ เพราะมีเพียงเราสองคนที่นั่งตะเลงตะเลงไปตามถนนดินที่เป็นหลุมเป็นบ่อ จนรู้สึกว่าเบาะรองนั่งนั้นไม่ได้ช่วยในการรองรับแรงกระแทกเลย
แล้วความตื่นตาตื่นใจก็เกิดกับเราอีกครั้ง เมื่อสายตาได้เห็น พยามาร์ (Phayamar) สถูปขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนา ตรงข้ามทางเข้าสู่เมืองโบราณศรีเกษตร โดยมีลักษณะคล้ายพยาจี แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่เท่า แต่สถูปแห่งนี้ก็มีความสำคัญเนื่องจากภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนนิ้วชี้ เล็บเท้า และคอ
รถสองแถวเลี้ยวขวาเข้าสู่พื้นที่อาณาจักรศรีเกษตร (Sri Ksetra หรือ Thayekhittaya) ซึ่งมีกำแพงเมืองล้อมรอบเป็นรูปวงกลม ยกเว้นทางด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่เราเข้า นั้นปราศจากกำแพง เนื่องจากมีการตัดถนนพาดผ่าน รวมถึงภายในพื้นที่อาณาจักรเอง ก็เป็นที่ทำกินของชาวบ้าน อีกทั้งยังมีทางรถไฟผ่ากลางพื้นที่อาณาจักร เนื่องจากอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ได้หายสาบสูญไปร่วม 800 ปี โดยเพิ่งมีการสำรวจ และเปิดเผยให้คนยุคปัจจุบันได้เห็นเมื่อร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง
ย้อนกลับไปกว่า 1200 ปี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวพยู หนึ่งในสี่ของชนชาติดั้งเดิมในแผ่นดินพม่า ได้สร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งนามว่า ศรีเกษตร ภายในอาณาจักรมากมายไปด้วยสถูปขนาดใหญ่ และวัดกว่า 100 แห่ง แต่ละวัดนั้นจะส่องแสงสุกปลั่งจากทอง เงิน ที่ใช้ประดับ จนกล่าวได้ว่าในช่วงเวลานั้น อาณาจักรศรีเกษตรมีความเจริญและยิ่งใหญ่เหนืออาณาจักรอีก 3 แห่งในยุคเดียวกัน อันประกอบด้วย อาณาจักรสุธรรมวดี ของมอญ อาณาจักรยะไข่ ของชาวอาระกัน และอาณาจักรธิริพิสยา ของชาวม่าน หรือพม่าในยุคปัจจุบัน แต่ความเจริญกับความเสื่อมยังคงเป็นของคู่กัน ในปีพ.ศ.1600 อาณาจักรศรีเกษตรก็ถึงคราวล่มสลาย เมื่อพระเจ้าอโนรธา (Anawrahta) มหาราชพระองค์แรกของชาวพม่า ผู้ก่อตั้งอาณาจักรพุกาม ได้ยกทัพเข้าตีอาณาจักรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งนี้
แม้อาณาจักรจะล่มสลายไปแล้ว แต่โบราณสถานและโบราณวัตถุยังคงอยู่ โดยเหล่าโบราณวัตถุนั้นถูกเก็บรักษาไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งจุดศูนย์กลางของอาณาจักรศรีเกษตรโบราณ เจ้าหน้าที่บอกค่าเข้าชม ซึ่งแยกเป็นค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ 5 เหรียญสหรัฐ และค่าเข้าเมืองโบราณ 5 เหรียญสหรัฐ เท่ากัน จากข้อมูลที่ได้จากเวอเวนคา และจากที่เราเห็น คือค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ 5 เหรียญสหรัฐนั้นแพงเกินไป สำหรับการชมโบราณวัตถุซึ่งมีเหลืออยู่ไม่มาก โดยจัดแสดงภายในห้องเล็กๆแค่ 3 ห้อง อีกทั้งการเข้ามายืนภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ ก็สามารถเหลียวหน้าเหลียวหลังชมโบราณวัตถุได้เกือบทั่วแล้ว ซึ่งเท่าที่เห็นก็มีแผ่นศิลาขนาดใหญ่ที่จำหลักภาพพุทธรูปที่ค่อนข้างเลือนราง กับไหหินขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายที่พบในเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ทำให้เราตัดสินใจไม่ยากที่จะซื้อเพียงบัตรเข้าเมืองโบราณเท่านั้น
Advertisement
ก่อนที่จะออกจากพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่สอบถามว่า เราจะเช่าเกวียนเพื่อชมโบราณสถานภายในเมืองเก่าไหม เรากล่าวปฏิเสธ เพราะดูจากแผนที่แล้ว เราน่าจะเดินชมเหล่าโบราณสถานภายในเมืองเก่าได้ แต่ในเวลาต่อมาเราจึงได้รู้ว่า พื้นที่อาณาจักรศรีเกษตรนั้นกว้างใหญ่เกินกว่าที่เราคิด
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 17.19 น.